การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์

โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นการนำเอาความรู้ในด้านการเขียนโปรแกรม มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมถึงอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตผลงานสำหรับแก้ปัญหา หรือนำผลงานมาประยุกต์ในงานจริง นักเรียนต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงงาน โดยอาจขอคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้สอน หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น เป้าหมายสูงสุดของการจัดทำโครงงาน คือ การที่โคงงานได้ถูกนำไปใช้งานจริงและก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้นำไปใช้

ในการเลือกหัวข้อโครงงานนั้นผู้พัฒนาอาจเริ่มจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับประสบการณ์ในการคิดค้นถึงสิ่งที่เป็นปัญหา และความเป็นไปได้ในการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยงาน โดยทั่วไปแล้วโครงงานคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา
เป็นการสร้างบทเรียนที่อาจมีแบบฝึกหัดหรือคำถามเพื่อทดสอบด้วย
2. โครงงานพัฒนาเครื่องมือ
เป็นการพัฒนาโปรแกรมช่วยงานในด้านต่างๆ
3. โครงงานจำลองทฤษฎี
เป็นการพัฒนาโปรแกรมเพื่อจำลองการทดลองในด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถทดลองด้วยสถานการณ์จริงได้
4. โครงงานประยุกต์
เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในการประดิษฐ์สิ่งของหรือปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
5. โครงงานพัฒนาเกม
เป็นการสร้างเกมเพื่อการศึกษาหรือความบันเทิง

การพัฒนาโครงงานเป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการย่อยหลายขั้นตอน อีกทั้งยังต้องใช้เวลาความคิดสร้างสรรค์ และความอดทนเป็นอย่างสูง จำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ นักเรียนอาจยึดถือขั้นตอนต่อไปนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงงาน คือ
1. การเลือกหัวข้อโครงงาน
เรื่องทั่วไปหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันสามารถนำมาเป็นหัวข้อพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ได้ทั้งสิ้น เช่น การนำคอมพิวเตอร์มาใช้เตือนเมื่อระดับน้ำฝนตกหนักเกินระดับที่ปลอดภัย หรือไว้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับกล้องเว็บแคมตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้บุกรุก เป็นต้น นักเรียนจะสามารถค้นหาหัวข้อของโครงงานได้มากมาย ด้วยการเริ่มต้นสังเกตสิ่งรอบๆตัวนั่นเอง
2. การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน
เมื่อได้หัวข้อโครงงานแล้ว นักเรียนจำเป็นต้องหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ต้องการจะจัดทำ แหล่งข้อมูลอาจเป็นหนังสือ หรือวารสารที่มีผู้ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้า หรืออาจเป็นการขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจศึกษาระบบซึ่งคล้ายกันที่มีผู้พัฒนามาก่อนหน้าแล้ว
3. การจัดทำข้อเสนอโครงงาน
เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน และพบว่าโครงงานมีความเป็นไปได้แล้ว นักเรียนควรเขียนข้อเสนอโครงงานเพื่อนำเสนอกับอาจารย์ผู้สอน การเขียนข้อเสนอจะเป็นการรวบรวมข้อมูลและความคิดให้เป็นระบบในขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยงข้องรวมถึงตารางกำหนดการทำงานและกำหนดระยะเวลาที่ต้องทำงานแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จด้วย
4. การจัดทำโครงงาน
ในขั้นนี้ต้องมีการรวบรวมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้ครบถ้วนมีการดำเนินงานตามตารางเวลาการทำงานอย่างเคร่งครัดเมื่อมีความก้าวหน้าในงาน จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของผลที่ได้อย่างสม่ำเสมอ และควรจดบันทึกความก้าวหน้า รวมถึงอุปสรรค์ที่ได้พบ และวิธีแก้ไขด้วย
5. การเขียนรายงาน
ในขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดมาเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาโครงงานเดิมต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่มีผู้อื่นต้องการทำโครงงานที่คล้ายกันก็จะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราได้บันทึกไว้โดยทันที
6. การนำเสนอและแสดงผลของโครงงาน
โดยทั่วไปเมื่อโครงงานเสร็จสิ้นแล้ว นักเรียนจำเป็นต้องมีการนำเสนอโครงงานให้กับผู้ที่ต้องการใช้งาน ผู้สนใจหรืออาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงงาน ควรเตรียมเอกสารนำเสนอให้สมบูรณ์ โดยอาจจะปรับย่อข้อความที่สำคัญมาจากรายงานก็ได้ นอกจากนี้ยังจะต้องวางแผนในการสาธิตการทำงานของโครงงานด้วย และควรฝึกหัดอธิบายการทำงานของโครงงานรวมถึงฝึกหัดตอบคำถามที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย