4.6  อุปกรณ์การสื่อสาร

                อุปกรณ์การสื่อสาร  (communication  devices)  ทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ส่งและรับข้อมูล  โดยมีการส่งผ่านทางสื่อกลางดังที่กล่าวมาแล้ว  สัญญาณที่ส่งออกไปอาจอยู่ในรูปแบบดิจิทัล  หรือแบบแอนะล็อก  ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับสื่อกลางที่ใช้ในการเชื่อมต่อ

                การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครือข่ายมีหลายแบบด้วยกัน  เช่น  การต่อผ่านโทรศัพท์บ้าน  การต่อผ่านเคเบิลทีวี  การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบใช้สายและไร้สาย  ซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์สนับสนุนในการเชื่อมต่อในแต่ละแบบ  อุปกรณ์การสื่อสารประเภทต่างๆ  ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  เช่น

                1)  โมเด็ม  (modem)  เป็นอุปกรณ์ที่แปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณแอนะล็อก  และแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิทัลเพื่อให้ข้อมูลส่งผ่านทางสายโทรศัพท์ได้  โมเด็มมีหลายประเภทแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้

                1.1)  โมเด็มแบบหมุนโทรศัพท์  (dial-up  modem)  เป็นโมเด็มที่ใช้ต่อเข้ากับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านทางสายโทรศัพท์  การเชื่อมต่อใช้วิธีการหมุนโทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต  ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลต่ำประมาณ  56  kbps  ระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็มแบบหมุนโทรศัพท์  ดังรูปที่  4.36

รูปที่ 4.36 ระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็มแบบหมุนโทรศัพท์

 

                1.2)  ดิจิทัลโมเด็ม  (digital modem)  เป็นโมเด็มที่ใช้รับและส่งข้อมูลผ่านสายเชื่อมสัญญาณแบบดิจิทัล  การเชื่อมต่อโมเด็มแบบนี้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องหมุนโทรศัพท์ไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต  โดยโมเด็มจะทำการเชื่อมต่อให้อัตโนมัติเมื่อมีการใช้งาน  สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงตั้งแต่  128  kbps  ขึ้นไป  โดยทั่วไปจะเป็นโมเด็มที่ติดตั้งภายนอก  (external  modem)  โมเด็มแบบนี้  เช่นดีเอสแอล (Digital  Subscriber  Line:  DSL)  เป็นโมเด็มที่ได้รับความนิยมในการใช้งานในบ้าน  และสำนักงานขนาดเล็ก  โดยสามารถรับและส่งข้อมูลดิจิทัลด้วยความเร็วสูงกว่าการเชื่อมต่อผ่านโมเด็มแบบหมุนโทรศัพท์  ตัวอย่างการติดตั้งดีเอสแอลโมเด็ม  ดังรูปที่  4.37

รูปที่ 4.37 ตัวอย่างการติดตั้งดีเอสแอลโมเด็ม

         เคเบิลโมเด็ม  (cable  modem)  เป็นโมเด็มทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลดิจิทัลจาอคอมพิวเตอร์ผ่านทางสายเคเบิลทีวี  บางครั้งเรียกว่าบรอดแบนด์  (broadband  modem)  สามารถรับและส่งข้อมูลได้สูงเหมือนกับดีเอสแอลโมเด็ม  ตัวอย่างการติดตั้งเคเบิลโมเด็ม  ดังรูปที่ 4.38

รูปที่ 4.38 ตัวอย่างการติดตั้งเคเบิ้ลโมเด็ม

                2) การ์ดแลน  (Lan  card)  เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมระหว่างคอมพิวเตอร์กับสายตำนำสัญญาณทำให้คอมพิวเตอร์สามารถรับและส่งข้อมูลกับระบบเครือข่ายได้  ในอดีตเป็นอุปกรณ์เสริมที่ใช้ต่อเพิ่มเข้ากับเมนบอร์ดของเครื่องคอมพิวเตอร์  แต่ในปัจจุบันมักจะถูกประกอบรวมไปในเมนบอร์ด  เนื่องจากความต้องการเชื่อมต่เข้ากับเครือข่ายกลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไปแล้วนั่นเอง  ตัวอย่างการ์ดแลนชนิดต่างๆ  ดังรูปที่  4.39


รูปที่ 4.39 การ์ดแลนชนิดต่างๆ

              3) ฮับ  (hub)  เป็นอุปกรณ์ที่รวมสัญญาณที่มาจากอุปกรณ์รับส่งหรือเครื่องคอมพิวเตอร์  หลายๆ  เครื่องเข้าด้วยกัน  ข้อมูลที่รับส่งผ่านฮับจากเครื่องหนึ่งจะกระจายไปยังทุกสถานีที่ต่ออยู่บนฮับนั้น  ดังนั้นทุกสถานีจะรับสัญญาณข้อมูลที่กระจายมาได้ทั้งหมด  แต่จะเลือกคัดลอกเฉพาะข้อมูลที่ส่งมาถึงตนเท่ากัน  ตัวอย่างการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วยฮับ  ดังรูปที่  4.40

รูปที่ 4.40 การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับฮับ

                4)  สวิตซ์  (switch)  เป็นอุปกรณ์รวมสัญญาณที่มาจากอุปกรณ์รับส่งหรือคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเช่นเดียวกับฮับ  แต่มีข้อแตกต่างจากฮับ  กล่าวคือ  การรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ตัวหนึ่ง  จะไม่กระจายไปยังทุกจุดเหมือนฮับ  ทั้งนี้เพราะสวิตซ์จะรับกลุ่มข้อมูลมาตรวจสอบก่อนว่าเป็นของคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใด  แล้วนำข้อมูลนั้นส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เป้าหมายให้อย่างอัตโนมัติ  สวิตซ์จะลดปัญหาการชนกันของข้อมูลเพราะไม่ต้องกระจายข้อมูลไปทุกสถานีที่เชื่อมต่ออยู่กับสวิตซ์  และยังมีข้อดีในเรื่องการป้องกันการดักรับข้อมูลที่กระจายไปในเครือข่าย  ตัวอย่างการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วนสวิตซ์  ดังรูปที่  4.41

รูปที่ 4.41 การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วยสวิตซ์

                5)  อุปกรณ์จัดเส้นทาง  (  router )  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานในการเชื่อมโยงเครือข่ายหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน  หรือเชื่อมโยงอุปกรณ์หลายอย่างเข้าด้วยกัน  ดังนั้นจึงมีเส้นทางการเข้าออกของข้อมูลได้หลายเส้นทาง  อุปกรณ์จัดเส้นทางจะหาเส้นทางที่เหมาะสมให้  เพื่อนำส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายต่างๆ  ไปยังอุปกรณ์ปลายทางตามที่ระบุไว้  ตัวอย่างการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วยอุปกรณ์จัดเส้นทาง  ดังรูปที่  4.42

รูปที่ 4.42 การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วยอุปกรณ์จัดเส้นทาง

 

                6)  จุดเชื่อมต่อแบบไร้สาย  (wireless  access  point)  ทำหน้าที่คล้ายกับฮับของเครือข่ายแบบใช้สายเพื่อใช้สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์แบบไร้สาย  ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งผ่านทางคลื่นวิทยุความถี่สูง  โดยจะต้องใช้งานร่วมกับการ์ดแลนไร้สายที่ติดตั้งอยู่กับคอมพิวเตอร์  หรืออุปกรณ์  เช่น  เครื่องพิมพ์  เป็นต้น  ตัวอย่างการใช้งานจุดเชื่อมต่อแบบไร้สาย  ดังรูปที่  4.43

รูปที่ 4.43 การใช้งานจุดเชื่อมต่อแบบไร้สาย