2.5 จริยธรรมในโลกของข้อมูล
2.5.1 ความเป็นส่วนตัว เมื่อข้อมูลปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้การรวบรวมข้อมูลการเข้าถึง การค้นหา และการแบ่งปั่นข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ทำให้ข้อมูลบางประเภทที่มีความเป็นส่วนตัวสูง เช่น เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลประวัติการรักษา อาจรั่วไหลไปสู่สาธารณะได้ บางครั้งข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้โดยผิดวัตถุประสงค์ของเจ้าของข้อมูล เช่น ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์มือถือซึ่งถูกเก็บไว้โดยสถานพยาบาล อาจรั่วไหลไปสู่บริษัทที่มีการประชาสัมพันธ์การขายผ่านโทรศัพท์มือถืออาจทำให้เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์นั้น ถูกรบกวนโดยไม่ได้ตั้งใจ
2.5.2 สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูล ในการเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลจะมีการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม โดยระบบจะอนุญาตให้ผู้ใช้คนหนึ่งเข้าถึงข้อมูลต้องมีการตรวจสอบว่า จะเข้าถึงข้อมูลใดได้บ้าง หรือไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลใดบ้าง ตัวอย่างเช่น พนักงานแผนกการเงินซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลเงินเดือน ไม่ควรได้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลประวัติส่วนตัวของพนักงานทั่วไปได้ เป็นต้น
หากการเข้าใช้ระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น สิทธ์ในการเข้าใช้ระบบก็จะจัดอยู่ในเกณฑ์ข้อนี้ด้วย โดยปกติแล้วการเข้าถึงระบบใดๆ นั้น ผู้ใช้จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลระบบ (system administrator) ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแล บำรุงรักษาระบบให้สามารถทำงานได้เป็นปกติ การเข้าถุงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 เป็นต้นมา มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลหลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น
มาตรา 5 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีการระบุความผิดที่เกี่ยวข้องกับการดักรับข้อมูลซึ่งเดินทางอยู่ในระบบเครือขายโดยการดักรับนี้ไม่ได้รับอนุญาต ก็มีความผิดเช่นกัน
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า จากตัวอย่างของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดทั้งจำคุกและปรับ ดังนั้นทุกคนต้องพึงระวังการใช้คอมพิวเตอร์และการเข้าใช้งานเครือข่าย แม้ว่าการกระทำบางอย่างอาจไม่ใช่ความผิดขั้นร้ายแรงถึงกับมีโทษจำคุกหรือปรับเงิน แต่การกระทำการใดๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานั้น อาจก่อความรำคราญหรือรบกวนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นได้เช่นกัน
2.5.3 ทรัพย์สินทางปัญญา ในกระบวนการผลิตโปรแกรม ระบบปฏิบัติการ รูปภาพ เพลง หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูง และใช้เวลาในการผลิตยาวนาน แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัล ผู้ใช้คนอื่นๆ สามารถทำซ้ำและนำไปใช้โดยไม่ได้จ่ายเงินให้กับผู้ผลิต ก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจกับเจ้าของข้อมูล ผู้ใช้จึงต้องพิจารณาขอบเขตของสิทธิ์ที่ตนเองได้รับในข้อมูลดังกล่าว และเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะดาวน์โหลดและแจกจ่ายข้อมูลดิจิทัลเหล่านั้น
นอกจากนี้การนำข้อความหรือรูปภาพจากสื่ออินเทอร์เน็ตมาใช้ จะต้องมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น การคัดลอกข้อคามหรือรูปภาพจากเว็บประกอบในการทำรายงาน โดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดอย่างรุนแรงตามหลักจริยธรรมสากลของการนำข้อมูลไปใช้
จะเห็นว่า ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมูลค่า ถึงแม้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะไม่ได้รับการีราคาออกมาเป็นจำนวนเงิน แต่ผู้ที่มีข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ รวมถึงมีวิธีการจัดการกับสิ่งเหลานี้ได้ดีกว่า ย่อมสามารถบริหารงานภายในองค์กร และสามารถแข่งขันกับโลกภายนอกได้อย่างดี
ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ควรรู้ และเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือทางด้านสารสนเทศเพื่อการเก็บรวบรวม ประมวลผล รวมถึงแสดงข้อมูลและสารสนเทศเหล่านี้ มีให้ใช้ได้อย่างหลากหลาย ควรเลือกใช้ให้ถูกต้อง และมีจริยธรรม ควรพิจารณาให้ดีว่า การใช้เครื่องมือ ข้อความ รูปภาพใดๆ ที่ได้มาควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกกฎหมาย และจริยธรรม รวมทั้งไม่สร้างความเดือดร้อน รำคาญให้แก่ผู้อื่น จากการใช้สิ่งเหล่านี้