1.2  องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

                ระบบสารสนเทศ  เป็นระบบที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ระบบสารสนเทศประกอบด้วย

                1.2.1  ฮาร์ดแวร์ (hardware)  หมายถึง  ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ  เช่น  คีย์บอร์ด  (keyboard)  เมาส์  (mouse)  จอภาพ (monitor)  จอภาพสัมผัส (touch  screen)  ปากกาแสง (ligh pen)  เครื่องอ่านรหัสแท่ง  (barcode  reader)  เครื่องพิมพ์ (printer)  ฮาร์ดดิสก์ (hard disk)  รวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารสำหรับเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าเป็นเครือข่าย  เช่น  โมเด็ม (modem)  และสายสัญญาณ

                1.2.2  ซอฟต์แวร์ (software)  หมายถึง  โปรแกรมหรือชุดคำสั่ง  (instruction)  ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ  เพื่อให้ทำงานตามคำสั่งของผู้ใช้  โดยทั่วไปโปรแกรม  หรือชุดคำสั่งจะถูกแบ่งออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ๆ  คือ

                ซอฟต์แวร์ระบบ  (system  software)  หมายถึง  ชุดคำสั่งที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์  และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ  และทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์

ซอฟต์แวร์ระบบแบ่งออกเป็น

                1)  ระบบปฏิบัติการ  (Operating  System:  OS)  เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์และซอฟแวร์ทั้งหมดภายในเครื่องคอมพิวเตอร์  ดังรูปที่  1.5  โดยจะทำหน้าที่ดูแลและจัดการให้ฮาร์แวร์และซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งอยู่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ  ตัวอย่างระบบปฏิบัติการ  เช่น  วินโดวศ์  (Windows)  ลีนุกซ์  (Linux)   และแมคโอเอส  (Mac  OS)  ดงรูปที่  1.6 

                2)  โปรแกรมอรรถประโยชน์  (utilities  program )  เป็นโปรแกรมที่ช่วยเสริมการทำงานของคอมพิวเตอร์  หรือช่วยโปรแกรมใช้งานอื่นๆ  ให้มีความสามารถใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น  เช่น  โปรแกรมที่ใช้ในการจัดการข้อมูล (file manager)  โปรแกรมที่ใช้ในการสำรองและเรียกคืนข้อมูล (back and restore)  โปรแกรมที่ใช้ในการบีบอัดแฟ้มข้อมูล  (file  compression)  และโปรแกรมที่ใช้ในการจัดพื้นที่ของดิสก์ (disk  defragmenter)  ดังรูปที่  1.7

                3)  โปรแกรมขับอุปกรณ์  หรือดีไวซ์ไดรฟ์เวอร์ (device  driver)  เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการติดตั้งระบบเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถติดต่อหรือใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้  ดังรูปที่  1.8

ที่มา http://shopping.sanook.com/product/6453065

รูปที่ 1.8 แสดงตัวอย่างการ์ดแสดงผลที่ต้องใช้ดีไวซ์ไดรเวอร์

                4)  โปรแกรมแปลภาษา  เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่แปลโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงให้เป็นรหัสที่อยู่ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้  ดังรูปที่  1.9  ตัวอย่างตัวแปลภาษา  เช่น  ตัวแปลภาษาจาวา  ตัวแปลภาษาซี

 

                ซอฟต์แวร์ประยุกต์  (application  software)  หมายถึง  ชุดคำสั่งที่เขียนขึ้นเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง  ซอฟต์แวร์ประยุกต์อาจเขียนขึ้นโดยใช้โปรแกรม

ภาษาคอมพิวเตอร์  เช่น  เบสิก (Basic)  ปาสคาล  (Pascal)  โคบอล  (Cobol)  ซี  (C)  ซีพลัสพลัส (C++)  และจาวา (Java) ซอฟต์แวร์ประยุกต์แบ่งตามกลุ่มการใช้งานได้ดังตารางที่  1.1

                1.2.3  ข้อมูล (data)  ข้อมูลจะถูกรวบรวมและป้อนเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์โดยผ่านอุปกรณ์ของหน่วยรับเข้า  เช่น  คีย์บอร์ด  เมาส์  และสแกนเนอร์  (scanner)  ข้อมูลต้องมีโครงสร้างในการจัดเก็บที่เป็นระบบเพื่อการสืบค้นที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ข้อมูลจะถูกจัดเก็บอยู่ในหน่วยความจำ  (memory unit)  ก่อนที่จะถูกย้ายไปเก็บที่หน่วยเก็บข้อมูล  (storage unit)  เช่น  ฮาร์ดดิสก์  และแผ่นซีดี  (Compact  Disc: CD)  การป้อนข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์  ดังรูปที่  1.10

                1.2.4  บุคลากร (people)  บุคลากรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบสารสนเทศ  ในที่นี้หมายถึงบุคลากรที่เป็นผู้ใช้ระบบสารสนเทศ  ดังรูปที่ 1.11  บุคลากรที่เป็นผู้พัฒนาระบบสารสนเทศ  จะต้องมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพให้สามารถทำงานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ใช้ง่ายและสะดวก  ส่วนผู้ใช้ต้องมีความรู้  ความเข้าใจ  และมีความสามารถในการใช้งานระบบสารสนเทศและการสื่อสารต่างๆ  ได้อย่างถูกต้องจึงจะเกิดสารสนเทศที่เป็นประโยชน์
 


รูปที่ 1.11 บุคลากรที่เป็นผู้ใช้ระบบสารสนเทศ

                1.2.5  ขั้นตอนการปฏิบัติงาน (procedure)  ระบบสารสนเทศต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน  เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่าย  และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน  เช่น  ขั้นตอนการบันทึกข้อมูล  ขั้นตอนการทำสำเนาข้อมูล  ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อข้อมูลได้รับความเสียหาย  หรือเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์  และอุปกรณ์ต่างๆ  เกิดการชำรุดเสียหาย  ขั้นตอนต่างๆ  เหล่านี้ควรได้รับการรวบรวมและจัดทำให้เป็นรูปเล่ม  ของคู่มือการใช้งาน  ดังรูปที่  1.12

ที่มา http://wetheloons.blogspot.com/2011/05/dummies-guide.html
รูปที่ 1.12 คู่มือการใช้งาน

                องค์กรต่างๆ  มีการลงทุนจำนวนมากในการจัดหาระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำมาช่วยงานทั้งด้านการบริหารและการจัดการงานทั่วไปขององค์กร  โดยเน้นที่คุณภาพของระบบสารสนเทศและความคุ้มค่าในการลงทุน  การใช้ระบบสารสนเทศจะเริ่มจากการนำข้อมูลป้อนเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์  ระบบคอมพิวเตอร์จะทำการประมวลผลข้อมูลเหล่านั้น  แล้วจึงส่งผลลัพธ์ออกมาให้กับผู้ใช้  ผู้ใช้ระบบสารสนเทศจะนำสารสนเทศนั้นไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง  หากผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์  ก็จะต้องย้อนมาพิจารณาเริ่มต้นที่ขั้นตอนการป้อนข้อมูลใหม่อีกครั้งว่า  ข้อมูลเข้า  และขั้นตอนอื่นๆ  มีความถูกต้อง  สมบูรณ์หรือไม่  ดังรูปที่  1.13